วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

10 เรื่องราวที่เรา (อาจ) ไม่เคยรู้เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์


              


 1. เพลงพระราชนิพนธ์มีทั้งหมดกี่เพลง

        เพลงพระราชนิพนธ์  มีทั้งหมด 48 เพลง  ได้แก่
1.     แสงเทียน (Candlelight Blues)
2.     ยามเย็น (Love at Sundown)
3.     สายฝน (Falling Rain)
4.     ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
5.     ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
6.     ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men's Blues)
7.     มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
8.     อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
9.     เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)
10. คำหวาน (Sweet Words)
11.  มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn)
12.  แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
13.  พรปีใหม่
14.   รักคืนเรือน (Love Over Again)
15.   ยามค่ำ (Twilight)
16.   ยิ้มสู้ (Smiles)
17.    มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March)
18.    เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
19.    ลมหนาว (Love in Spring)
20.    ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
21.    Oh I say
22.    Can't You Ever See
23.     Lay Kram Goes Dixie
24.     ค่ำแล้ว (Lullaby)


25.            สายลม (I Think of You)
26.            ไกลกังวล (When), เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย
27.            แสงเดือน (Magic Beams)
28.            ฝัน (Somewhere Somehow), เพลินภูพิงค์
29.            มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March)
30.            ภิรมย์รัก (A Love Story)
31.            Nature Waltz
32.            The Hunter
33.            Kinari Waltz
34.            แผ่นดินของเรา (Alexandra)
35.            พระมหามงคล
36.            ยูงทอง
37.            ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
38.            เตือนใจ (Old-Fashioned Melody)
39.            ไร้เดือน (No Moon), ไร้จันทร์
40.            เกาะในฝัน (Dream Island)
41.            แว่ว (Echo)
42.            เกษตรศาสตร์
43.            ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream)
44.            เราสู้
45.            เรา-เหล่าราบ ๒๑ (We-Infantry Regiment 21)
46.            Blues for Uthit
47.            รัก
48.            เมนูไข่


2. เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก

   คือเพลงอะไร ?  

   คือ เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน  Candlelight Blues   ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะบลูส์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ ที่จะทรงแก้ไขทำนอง และคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมา บรรเลงในเวลานั้น ต่อมา ได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๙๐ และใน พ.ศ. ๒๔๙๖ นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวาย


3. เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออก

   บรรเลงสู่ประชาชน คือเพลง

เพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น Love at Sundown เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำต้องสมบูรณ์ให้นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที


4. ความลับของเพลงพระราชนิพนธ์ สายฝน ? 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถึงความลับของเพลงนี้ว่า

"...เมื่อแต่งเป็นเวลา ๖ เดือน ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้เขียนจดหมายถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไปเข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด...ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่ง คือเขียนไป ๔ ช่วง แล้วก็ช่วงที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เสร็จแล้วเอาช่วงที่ ๓ มาแลกช่วงที่ ๒ กลับไป ทำให้เพลงมีลีลาต่างกันไป...เป็น ๑ ๓ ๒ ๔..."


5.  เพลงพระราชนิพนธ์ ชะตาชีวิต H.M. Blues 

    คำว่า H.M. ย่อมาจากอะไร ? 

ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๒๐ พรรษา ในพ.ศ. ๒๔๙๐ ข้าราชการ นักเรียนและคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน ในวันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีด้วย ในงานมีการทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M.Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร ผู้ที่จะทาย ต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ จุดประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับช่วยเหลือคนจน โดยวงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพัก ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า "คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรี ต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว" ในงานไม่มีผู้ใดทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว เพราะทุกคนต่างคิดว่า H.M. Blues ย่อมาจาก His Majesty 's Blues ซึ่งแปลว่าเพลงแนวบลูส์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่แท้ที่จริงแล้ว H.M.Blues ย่อมาจาก Hungry Men's Blues แปลว่าเพลงแนวบลูส์ของผู้ที่หิวโหยต่างหาก


6. เพลงพระราชนิพนธ์ 2 เพลงสุดโรแมนติค คือเพลง ?

 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะยังทรงเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day พร้อมด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ Dream of Love Dream of You หลังพระกระยาหารค่ำในงานเลี้ยง ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระธำมรงค์หมั้น ในวันนั้น





7. เพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานให้ กับ มหาวิทยาลัย

     3 แห่ง คือเพลง ?

เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์ จัดเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย 1 ใน 3 แห่ง ซึ่งอีก 2 เพลง ได้แก่ เพลง "ยูงทอง" ซึ่งพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพลง "เกษตรศาสตร์" ซึ่งพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยพระองค์มีพระราชดำรัสถึงการแต่งเพลงประจำสถาบันไว้ว่า

"...เรื่องเพลงที่แต่งขึ้นใหม่นั้นต้องขอชี้แจงสักนิด ฟังแล้วอาจจะตกใจ เพราะว่าเพลงที่ประจำในมหาวิทยาลัยเมืองไทย เดี๋ยวนี้ก็มีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วก็ของธรรมศาสตร์ที่ได้ให้ทั้งสองเพลงนั้น กับเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้ ต้องบอกว่ายาวเท่ากัน ไม่ต้องอิจฉาว่าของเขายาวกว่าหรือสั้นกว่า ยาวเท่ากัน แล้วก็การสร้างแบบนั้นก็สร้างในแบบเดียวกัน ไม่ต้องอิจฉาอะไร แล้วก็ถ้าชอบก็บอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาจจะแก้ไข อย่างไรก็ตาม ก็มีอย่างหนึ่ง คือ เพลงของจุฬาฯ เขาก็บอกว่าเพลงของเขาเพราะที่สุด ถ้าไปถามชาวธรรมศาสตร์ว่าเพลงไหนเพราะที่สุด เขาก็บอกว่าเพลงธรรมศาสตร์ แล้วถ้าถามพวกเกษตร น่ากลัวบอกว่าเพลงเกษตรเพราะกว่า ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไรนะ แต่ว่าเพลงของจุฬาฯ เขาโอ้อวดว่าสง่าผ่าเผยมาก แล้วก็เพราะมาก ถ้าพูดถึงว่าเพลงธรรมศาสตร์เขาก็บอกว่าองอาจดี เดินก็ได้ จุฬาฯ เขาก็ตอบว่าของเขาก็เดินได้เหมือนกัน เป็นเพลงสำหรับนำแถวได้..."


8. เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษ

     ด้วยพระองค์เอง คือเพลง

เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ "Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody", "No Moon" และ "Dream Island"


9. ที่มาอันยิ่งใหญ่ของเพลงพระราชนิพนธ์ 

     ความฝันอันสูงสุด ?

เมื่อ พ.ศ. 2512 ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้รับพระราชเสาวนีย์จาก สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ ออกมาเป็นกลอน 5 บท

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้พิมพ์บทกลอนนี้ลงในกระดาษการ์ดแผ่นเล็ก ๆ พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน และผู้ทำงานเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลงในคำกลอน "ความฝันอันสูงสุด" ใน พ.ศ. 2514 ขับร้องโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค


10. ที่มาของเพลงพระราชนิพนธ์  เมนูไข่ ? 


 เพลงพระราชนิพนธ์ เมนูไข่ เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๔๘ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ ๗๒ พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ด้วยทรงรำลึกได้ว่า สมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารที่ทำจากไข่ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัย ให้ทรงพระราชนิพนธ์ กอปรกับทรงพบโคลงสี่ "เมนูไข่" ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘



ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อให้วง อ.ส. วันศุกร์นำออกบรรเลงและขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงฉลองสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น